วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

โรคที่เกิดในหน้าร้อน

โรคที่เกิดในหน้าร้อน
เนื่องด้วยขณะนี้เป็นระยะที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
ซึ่งเป็นฤดูที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด
ดังนั้นในบางพื้นที่ของประเทศที่ประสบกับภาวะภัยแล้งในช่วงฤดูร้อนนี้อาจจะเกิดการระบาดของโรคติดต่อหลายช
นิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด
ไข้รากสาดน้อย หรือ ไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ
กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของประชาชนในช่วง ฤดูร้อนเป็นอย่างยิ่ง
จึงใคร่ขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม และภาชนะในการใส่อาหาร
ตลอดจนให้มีการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะและขอแนะนำ ให้ทราบถึงอาการสำคัญและวิธีการป้องกันโรคที่เกิดใน
ฤดูร้อน ดังนี้

โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ
ก. สาเหตุ และอาการของโรค
1. โรคอุจจาระร่วง
เกิดจากเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ
สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป อาการสำคัญ คือ
ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกปนเลือด อาจมีอาเจียนร่วมด้วย อาจมีอาการเพียงเล็กน้อย
จนกระทั่งอาการรุนแรงเช่นเดียวกับอหิวาตกโรค

2. โรคอาหารเป็นพิษ
เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า เชื้อรา เห็ด
หรือสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร
สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบๆ
จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และไข่เป็ด ไข่ไก่
รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ ถ้าไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอ เมื่อรับประทาน
อาหารนี้เข้าไปก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้ อาการสำคัญคือ มีไข้ ปวดท้อง
เนื่องจากเชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้ มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อย
ตามเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ซึ่งถ้าถ่ายมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้
และบางรายอาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการติดเชื้อ และเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น
ข้อและกระดูก ถุงน้ำดี กล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต
จะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ

3. โรคบิด
เกิดจากเชื้อบิด ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียหรืออมีบา สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหาร
ผักดิบหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระบ่อย
อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือด มีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่งร่วมด้วย และบางคนอาจเป็นโรคนี้แบบเรื้อรังได้

4. อหิวาตกโรค
เกิดจากเชื้ออหิวาตกโรคซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหาร
หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป
อาการเกิดขึ้น คือ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมาก ๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง
ไปจนกระทั่งมีการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำซาวข้าว อาเจียนมาก และมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่ อย่างรวดเร็ว
คือ กระหายน้ำ กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ตาลึกโหล ผิวหนังเหี่ยวย่น ปัสสาวะน้อย หรือไม่มีปัสสาวะ
หายใจลึกผิดปกติ ชีพจรเต้นเบาเร็ว อาการเหล่านี้เกิดขึ้นรวดเร็ว ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะช๊อค หมดสติ
เนื่องจากเสียน้ำ สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงแก่ความตายในเวลาอันรวดเร็ว
ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที


5. ไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย
เกิดจากเชื้อทัยฟอยด์ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย
สามารถติดต่อได้โดยอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระและปัสสาวะของผู้ป่วย อาการสำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ
ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องผูก หรือบางรายอาจท้องเสียได้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เรื้อรังจะมีเชื้อปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็นครั้งคราว
ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นเป็นพาหะของโรคได้ ถ้าไปประกอบอาหารโดยไม่สะอาด หรือไม่สุก
ก็จะทำให้เชื้อไทฟอยด์แพร่ไปสู่ผู้อื่นได้
โรคติดต่อทางอาหารและน้ำดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าจะมีสาเหตุของการเกิดโรคต่างกัน
แต่จะมีวิธีการติดต่อที่คล้ายคลึงกัน คือ เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ
ที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม
หรืออาหารที่ทิ้งไว้ค้างคืน โดยไม่ได้แช่เย็นไว้ และไม่ได้อุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน
ทั้งนี้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวข้างต้น สามารถแพร่เชื้อได้ทางอุจจาระ
และหากเป็นผู้ประกอบอาหารหรือพนักงานเสริฟอาหารก็จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มาก

ข. การรักษา
1. ในระยะเริ่มแรกที่มีอาการท้องเดิน หรืออาเจียนเล็กน้อยควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ
หรืออาหารเหลวที่มีอยู่ในบ้านมากๆ โดยอาจเป็นน้ำชา น้ำข้าว น้ำแกงจืด น้ำผลไม้ หรือข้าวต้ม
และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ในสัดส่วนที่ถูกต้อง โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซอง
ผสมกับน้ำต้มสุกเย็น 1 ขวดน้ำปลากลม หรือเตรียมสารละลายเกลือแร่เอง โดยการผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกเย็น 1 ขวดน้ำปลากลม
และให้ผู้ป่วยดื่มบ่อยๆ เพื่อเป็นการทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป เนื่องจากการถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง
สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ที่ผสมแล้ว ควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน ถ้าเหลือให้เททิ้ง แล้วผสมใหม่วันต่อวัน
การรักษาดังกล่าวนี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยยังถ่ายบ่อย และมีอาการมากขึ้น เช่น
อาเจียนมากขึ้น ไข้สูงหรือชักหรือเกิดอาการขาดน้ำ ควรนำไปตรวจรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย
หรือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านโดยเร็วต่อไป

2. เด็กที่ดื่มนมแม่ ให้ดื่มนมแม่ต่อไป ร่วมกับป้อนสารละลายน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ
สำหรับเด็กที่ดื่มนมผง ให้ผสมนมตามปกติ
แต่ให้ดื่มเพียงครึ่งเดียวของปริมาณที่เคยดื่มแล้วให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่สลับกันไป
(ไม่ควรผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ลงในนมผสม)
3. เริ่มให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม ภายใน 4 ชั่วโมง
หลังจากดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อช่วยให้ลำไส้ได้อาหารและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
4. หยุดให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เช่น ถ่ายน้อยลงแล้วเป็นต้น
หลังจากนั้นให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย โดยกินครั้งละน้อยๆ และเพิ่มจำนวนมื้อ
5. ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังคงอยู่ในร่างกาย
ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น
6. การใช้ยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์

ค. การป้องกัน
1. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร รับประทานอาหาร หรือก่อนเตรียมนมให้เด็ก
และภายหลังจากการเข้าห้องน้ำ หรือห้องส้วมทุกครั้ง
2. ดื่มน้ำที่สะอาด หรือน้ำต้มสุก และรับประทานอาหารที่สะอาด และสุกใหม่ๆ
ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม
หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไปควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด
และเก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง
3. สำหรับผู้ประกอบอาหาร และพนักงานเสริฟอาหาร ควรหมั่นล้างมือก่อนจับต้องอาหารทุกครั้ง
และดูแลรักษาความสะอาดภายในครัว และอุปกรณ์เครื่องใช้ในการประกอบอาหาร ตลอดจนกำจัดขยะมูลฝอย
และเศษอาหารทุกวัน และหากมีอาการอุจจาระร่วง ควรหยุดปฏิบัติงานจนกว่าจะหายหรือตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ
4. กำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลรอบๆ บริเวณบ้าน และถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
(ส้วมซึม) เพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

5. ผู้ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานฆ่าสัตว์ จำหน่ายเนื้อสัตว์
รวมไปถึงร้านอาหารทุกประเภท ควรดูแลสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยงไม่ให้เป็นโรคติดต่อ
และหมั่นทำความสะอาดสถานที่ประกอบการ และกำจัดขยะมูลฝอยบริเวณโดยรอบ
เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
6. สำหรับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ควรจัดให้มีน้ำดื่มที่สะอาด มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
มีการกำจัดขยะมูลฝอย และน้ำเสียที่เหมาะสมในบริเวณชุมชนก่อสร้าง
ตลอดจนมีการให้สุขศึกษาแก่คนงานในการป้องกันโรค

6. โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ
ก. สาเหตุและอาการของโรค เกิดจากเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า
เป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมติดต่อมาสู่คน
โดยถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือสัตว์เลียบริเวณที่มีแผลรอยข่วน
หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์ที่นำโรคที่สำคัญที่สุด ได้แก่
สุนัขรองลงมาคือแมว และอาจพบในสัตว์อื่น ๆ หลายชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยง เช่น หมู ม้า วัว ควาย และสัตว์ป่า
เช่น ลิง ชะนี กระรอก กระแต เป็นต้น เมื่อคนได้รับเชื้อแล้ว และไม่ได้รับการป้องกันที่ถูกต้อง
ส่วนใหญ่จะมีอาการปรากฏ หลังจากการรับเชื้อ 15 - 60 วัน หรือบางรายอาจนานเป็นปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้
ขณะนี้ยังไม่มียารักษาได้ ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตทุกราย ฉะนั้น การป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

อาการที่สำคัญของโรคในคน เริ่มด้วยอาการปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร
อ่อนเพลีย อาการที่พบบ่อยๆ คือคันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด ซึ่งแผลอาจหายสนิทไปนานแล้วต่อมาลุกลามไปที่อื่น
ๆ ผู้ป่วยจะเกามากจนเลือดออกซิบ ๆ และมีอาการกลืนลำบาก
เพราะกล้ามเนื้อที่ลำคอและกล่องเสียงหดและเกร็งตัว อยากดื่มน้ำ แต่กลืนไม่ได้ทำให้มีอาการกลัวน้ำ
น้ำลายฟูมปาก บ้วนน้ำลายบ่อย กระวนกระวาย ตื่นเต้น ใจคอหงุดหงิด หายใจเร็ว
ประสาทสัมผัสจะไวต่อการกระตุ้น ทำให้ตกใจง่ายและสะดุ้งผวาเมื่อถูกลม หรือได้ยินเสียงดัง
กล้ามเนื้อแขนขาเกร็งกระตุก ระยะหลังจะเป็นอัมพาตหมดสติ และเสียชีวิตภายใน 2-7 วัน
นับจากเริ่มแสดงอาการ
วิธีสังเกตสุนัขหรือแมวที่เป็นโรคกลัวน้ำ คือ ระยะแรก สัตว์จะมีนิสัยผิดไปจากเดิม ต่อมาจะมีอาการ
ตื่นเต้น ตกใจง่าย กระวนกระวาย กระโดดงับลมหรือแมลง กินของแปลกๆเช่น เศษไม้ หิน ดิน ทราย
กัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า กินอาหารได้น้อยลง ม่านตาเบิกขยาย และจะไวต่อแสงและเสียง
เสียงเห่าหอนผิดปกติ หลังแข็ง หางตก ลิ้นห้อย เนื่องจากเริ่มเป็นอัมพาต โดยคางจะห้อย น้ำลายไหลซึม
กลืนไม่ได้ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากค้าง ขาสั่น เดินไม่มั่นคง อัมพาตจะลุกลามไปทั่วตัว แล้วจะล้มลง
ชัก และตายภายใน 10 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มแสดงอาการ
อย่างไรก็ตามสัตว์บางตัวอาจมีอาการซึมแสดงอาการระยะตื่นเต้นสั้นหรือไม่แสดงอาการ ซุกซ่อนตัวอยู่ในที่มืด
เย็นและเงียบๆ ไม่กินอาหาร เอาเท้าตะกรุยคอ คล้ายกระดูกติดคอ
โดยไม่มีอาการดุร้ายให้เห็นจะกัดคนต่อเมื่อถูกรบกวน

ข. การป้องกัน
1. นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง แต่สุนัขที่
ฉีดวัคซีนครั้งแรกควรฉีด 2 ครั้ง (ห่างกัน 1-3 เดือน) ตาม
พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้ากำหนดให้เจ้าของต้องนำสุนัขไปรับการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อสุนัขอายุ 2-4 เดือน
2. สอนลูกหลาน ไม่ให้เล่นคลุกคลีกับสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
หรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน ควรนำสัตว์ที่นำมาเลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด
เพราะสัตว์ที่ได้รับวัคซีนถูกต้องแล้วประมาณ 1 เดือน จึงจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้
และถ้าไม่ต้องการให้สุนัขมีลูก ควรนำไปคุมกำเนิด เช่น ทำหมัน ฉีดยาคุม
3. ควรทิ้งขยะ เศษอาหาร ในที่ที่มีฝาปิดมิดชิด หรือ กำจัดโดยการฝัง หรือเผา
เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของสุนัขจรจัด
และควรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการกำจัดสุนัขไม่มีเจ้าของ
4. เมื่อถูกสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด หลาย ๆ
ครั้ง เช็ดให้แห้งแล้วใส่สารละลายไอโอดีนที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น โพวีโดนไอโอดีน
หรือยารักษาแผลสดอื่น ๆ แทน พร้อมทั้งติดตามหาเจ้าของสุนัขที่กัดเพื่อสอบถามประวัติอาการ
และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แล้วรีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ใกล้ ที่สุด
เพื่อรับคำแนะนำ ในการฉีดวัคซีน และอิมมูโนโกบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
และถ้าต้องได้รับการฉีดวัคซีนและ
อิมมูโนโกบุลินจะต้องไปให้ครบตามนัดหมายและปฏิบัติตามคำแนะนำโดยเคร่งครัด

5. ควรกักขังสุนัขหรือแมวที่กัดไว้เพื่อดูอาการ
ถ้าเป็นสัตว์ที่มีอาการปกติให้กักขังไว้ดูอาการอย่างน้อย 10 วัน โดยในระหว่างนี้ ควรให้อาหาร
และน้ำตามปกติแต่ต้องระมัดระวัง และไม่คลุกคลีด้วย ถ้าสัตว์มีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที
และถ้าสัตว์ตาย ในระหว่างนี้ให้ตัดหัวส่งตรวจ แต่ถ้าเป็นสัตว์ที่มีอาการชัดเจน หรือเป็นสัตว์ป่า
หรือสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ และกักขังไม่ได้ให้ฆ่าทันทีแล้วรีบตัดหัวส่งตรวจ
ทั้งนี้โปรดระวังอย่าฆ่าสัตว์โดยทำให้สมองเละ เพราะจะทำให้ตรวจไม่ได้
และในการตัดหัวสัตว์ส่งตรวจนั้นควรสวมถุงมือกันน้ำ หรือใช้ถุงพลาสติกหุ้มมือ ขณะทำการตัด
(ผู้ที่มีบาดแผลที่มือไม่ควรแตะต้องสัตว์นั้น) แล้วนำถุงพลาสติกครอบส่วนหัวสุนัขก่อนใช้มีดคม ๆ
ตัดตรงรอยข้อต่อระหว่างหัวกับคอ รวบถุงพลาสติกที่ครอบส่วนหัวสุนัขไว้ และนำใส่ลงในถุงพลาสติกหนาๆ
อีกชั้นหนึ่ง ไม่ควรใช้มีดปังตอ หรือขวานสับ เพราะเชื้ออาจกระเด็นเข้าปากและตาได้
ใส่หัวสัตว์ลงในถุงพลาสติก รัดปากถุงให้แน่น และใส่ภาชนะที่มีความเย็น เช่น กระติกที่มีน้ำแข็งอยู่
เพื่อกันไม่ให้เน่า รีบส่งห้องปฏิบัติการตรวจโรคพิษสุนัขบ้าทันที
6. เมื่อพบเห็นสุนัข
หรือสัตว์มีอาการที่คิดว่าจะเป็นโรคนี้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
หรือเทศบาลทราบโดยด่วน เพื่อดำเนินการกำจัด โดยการติดตามสุนัขและคนที่ถูกสุนัขตัวดังกล่าวกัด ข่วน
และควบคุมโรคในสัตว์ในบริเวณโดยรอบ
7. ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการที่คิดว่าจะเป็นโรคนี้ ให้รีบแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานีอนามัย
หรือโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนหาแหล่งของโรค และดำเนินการควบคุมโรคโดยเร็วต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น