วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

โรคหน้าร้อนและวิธีปรับตัว




ใกล้จะถึงหน้าร้อน เราต้องคงปรับตัวกันบ้างล่ะ โรคหน้าร้อนเป็นอย่างไร มีโรคอะไรบ้าง และจะปรับตัวอย่างไร
ขอนำเสนอบทความโรคหน้าร้อนที่สำคัญ และพบได้ทุกปี ดังนี้ต่อไปนี้
1. โรคระบาดที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย เป็นต้น
โรคอุจจาระร่วง นั้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสโปรโตซัว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเหลวเป็นมูกเลือด อาเจียน มักมีอาการปวดท้องรุนแรง ร่วมด้วย ที่เรียกกันทั่วไปเรียกว่า อาหารเป็นพิษ ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย ผู้ป่วยโรคนี้จะอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ แต่รุนแรงกว่า บางรายอาการท้องผูกแทนท้องร่วง โรคเหล่านี้หากประชาชนไม่รู้จักวิธีเยียวยารักษาถูกต้อง เช่น สูญเสียน้ำในร่างกายมาก อาจถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิตได้
สำหรับอาหารที่ต้องระมัดระวังในการบริโภคในหน้าร้อน เนื่องจากเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางอาหารและน้ำได้ง่าย เช่น อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสม น้ำแข็ง อาหารทะเล ส้มตำ อาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบ ก้อย อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารประเภทยำ โดยเฉพาะลูกชิ้นลวกรสแซ่บ เนื่องจากการลวกลูกชิ้นอาจถูกความร้อนเฉพาะผิวรอบนอก แต่ข้างในไม่สุกทั้งหมด ดังนั้นผู้ปรุงอาหารจึงควรเคร่งครัดปรุงให้สะอาด ใช้เวลาลวกในน้ำเดือดนาน 1 นาทีขึ้นไป เพื่อให้ความร้อนทำลายเชื้อโรค หรือแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อนอยู่ เพราะลูกชื้นส่วนใหญ่มีการผลิตมาก่อนถึงมือผู้บริโภคไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง
โรคระบาดที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ สามารถหลีกเลี่ยงได้ดังนี้
- ไม่รับประทานอาหาร น้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค และสารพิษ
- ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ รวมทั้งเก็บถนอมอาหารไว้ในตู้เย็น เมื่อจะรับประทาน ต้องนำออกจากตู้เย็นมาอุ่นก่อน
- ล้างมือก่อนปรุงอาหารและรับประทานอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคเข้าสู่
ร่างกาย
- การรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรเลือกร้านอาหารที่สะอาดปลอดภัย

2. โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้เลือดออก เป็นต้น
โรคพิษสุนัขบ้า สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญในบ้านเรา พบว่า คือ สุนัข รองลงมาคือ แมว เชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามีอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค เข้าสู่คนได้ทางบาดแผลที่ถูกสุนัขกัดจึงไม่ควรคลุกคลีกับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของและไม่ควรยั่วโมโหสุนัข หากเลี้ยงสุนัขหรือแมวให้นำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคปีละครั้ง และควรระมัดระวังบุตรหลานของท่านไม่ให้คลุกคลีกับสุนัขและแมวจรจัด


เมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์กัด ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ แล้วใส่ยารักษาแผลสด และรีบไปพบแพทย์ โรคนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตปีหนึ่ง ๆ นับร้อยราย ทั้ง ๆ ที่โรคนี้ มีวัคซีนป้องกันแล้ว แต่ยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากอยู่ดี
โรคไข้เลือดออก แม้ว่าจะไม่ระบาดรุนแรง แต่ก็พบได้ทุกฤดู พบมากในกลุ่มเด็กโตโตวัยรุ่น และ ในผู้ใหญ่ ระวังอย่าให้ยุงลายกัด นอนในมุ้ง ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นประจำทุกสัปดาห์

3. โรคอื่น ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่มักเกิดขึ้นง่าย ๆ ช่วงหน้าร้อน ซึ่งยังต้องดูแลเอาใจใส่ ไม่ให้เกิดโรคเหล่านี้ จะดีที่สุด ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ปวดหัว-ตัวร้อน ไอ-จาม รวมทั้งโรคผิวหนัง เม็ดผด-ผื่นคัน อีกทั้งโรคลมแดด โรคลมชักลมบ้าหมู ผู้ป่วยที่มีโรคเหล่านี้เป็นโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

วิธีปรับตัวเพื่อให้รอดพ้นโรคภัยไข้เจ็บ ที่มากับช่วงหน้าร้อน ทำได้ง่ายๆ ดังนี้
วิธีแรก ปรับพฤติกรรมบริโภคช่วงหน้าร้อน ให้เข้ากับสภาวะอากาศร้อนอบอ้าว
อุณหภูมิที่ร้อนอบอ้าวมาก ๆ จะมีผลให้อาหารเกิดการบูด เน่าเสียง่าย เร็วกว่าฤดูกาลอื่น ๆ จึงต้องเลือกบริโภคอาหาร น้ำดื่ม และนม ถูกสุขอนามัย โดยต้องพิถีพิถันความสด-ใหม่-สะอาด หมั่นสังเกตสินค้าหมดอายุ
วิธีที่ 2 ปรับสภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงตลอดเวลา เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม รับมือภัยร้ายหน้าร้อน ที่กำลังย่างกรายใกล้เข้ามา จึงควรเตรียมฟิตซ้อมร่างกายให้สมบูรณ์ แข็งแรง ด้วยการหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 30 นาที อย่างน้อย
การออกกำลังกายช่วงหน้าร้อน ต้องมีวิธีปฏิบัติสอดคล้องกับสภาวะอากาศร้อนอบอ้าว คือต้องไม่สวมเสื้อผ้าหนา และสีทึบ ควรเลือกเนื้อผ้าบาง-เบา ระบายความร้อนได้ดี สีอ่อน ไม่อมความร้อน
การออกกำลังกายช่วงหน้าร้อน ไม่ควรหักโหมมากเกินไป ที่สำคัญควรพักเหนื่อยบ่อย ๆ เป็นระยะ ๆ เมื่อหายเหนื่อยทุกครั้ง ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 4-6 แก้ว เพื่อทดแทนสูญเสียเหงื่อมากจากการออกกำลังกายช่วงหน้าร้อน

วิธีที่ 3. ปรับสภาพแวดล้อมในที่พักอาศัยให้เหมาะสม เช่น ที่พักอาศัยไม่มีเครื่องปรับอากาศ ให้ใช้วิธีเปิดประตู หน้าต่างมากบานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้อากาศ
ร้อนระบาย ถ่ายเทดี

วิธีที่ 4. ปรับพฤติกรรมเดินทางออกนอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงออกนอกบ้าน หรืออยู่กลางแดดวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00-15.00 น. จะดีที่สุด แต่หากจำเป็นต้องออกจากบ้านในภาวะอากาศร้อนอบอ้าวมาก ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว ขอแนะนำดื่มน้ำสะอาดเย็น ๆ สัก 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน
หลังจากออกจากบ้านแล้ว ควรหาจังหวะ และโอกาสที่จะดื่มน้ำสะอาด เพื่อทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียกับเหงื่อที่ไหลออกมากช่วงอากาศร้อนอบอ้าว การปฏิบัติเช่นนี้จะเป็นผลดีต่อร่างกายทำให้ไม่อ่อนเพลีย

วิธีสุดท้าย หลีกเลี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะสภาวะอากาศร้อนอบอ้าว แอลกอฮอล์จะซึมผ่านเข้าสู่กระแสโลหิตเร็ว และเพิ่มแรงดันโลหิตสูงขึ้น มากกว่าช่วงอากาศหนาวเย็น หรือช่วงปกติ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน จนถึงขั้นเกิดภาวะช็อกได้ หากร่างกายไม่ฟิต และไม่มีความสมบูรณ์มากพอ หรือผู้มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น